รู้หรือไม่ว่า 25% ของประชากรไทยมีโรคไขมันพอกตับอยู่ โดยที่คนส่วนใหญ่มักจะไม่รู้ตัว ผู้ป่วยที่เป็นโรคไขมันพอกตับประมาณ 1 ใน 4 จะกลายเป็นโรคตับอักเสบ และอาจลุกลามจนเป็นโรคมะเร็งตับ โดยโอกาสเกิดโรคไขมันพอกตับนั้น สามารถเป็นได้ทั้งเพศหญิง เพศชาย และเด็กที่มีโรคอ้วน
ไขมันพอกตับ มักเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีไขมัน หรือคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป จึงควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และจำกัดการบริโภคอาหารกลุ่มต่อไปนี้
1. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเหล้า เบียร์ ไวน์ วิสกี้ เป็นต้น
2. อาหารที่มีไขมันสูง อย่างเช่น มันปู มันกุ้ง ตับห่าน แคปหมู กะทิ เป็ดปักกิ่ง หอยทุกชนิด ชีส ไข่แดง เป็นต้น
3. อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง พิซซ่า เนื้อสัตว์ ปลา ไข่ และถั่วต่างๆ
4. อาหารที่มีรสหวานมาก เช่น น้ำหวาน ชานม น้ำอัดลม ขนมหวานใส่กะทิ เป็นต้น
5. ผลไม้ที่มีน้ำตาลฟรุกโตสปริมาณมาก เช่น มะม่วงสุก ทุเรียน มังคุด กล้วยหอม แก้วมังกรเนื้อสีแดง การรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของฟรุกโตส ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อไม่ให้ร่างกายเกิดผลกระทบจากโรคภัยหรือปัญหาสุขภาพต่างๆ
6. อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง ซึ่งไขมันอิ่มตัวส่วนใหญ่พบในเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนื้อวัวติดมัน เนื้อแกะ เนื้อหมู เบคอน เนื้อไก่ที่มีหนัง ครีม เนย ชีส เป็นต้น อาหารเหล่านี้นอกจากจะมีไขมันอิ่มตัวแล้วยังมีคอเลสเตอรอลร่วมด้วย นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่และอาหารทอดยังประกอบไปด้วยไขมันอิ่มตัวสูงเหมือนกัน
7. อาหารที่มีโซเดียมมาก ซึ่งเป็นองค์ประกอบของเกลือ เพื่อป้องกันหรือลดอาการบวม การจำกัดโซเดียมทำได้โดยงดของหมักดอง ปรุงอาหารโดยไม่เติมซอสและเครื่องปรุงซึ่งมีรสเค็ม รวมทั้งผงชูรสด้วย ถ้าปรุงอาหารจากอาหารสด จะช่วยลดปริมาณโซเดียมได้มาก
การดูแลสุขภาพตับ นอกจากการหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำร้ายสุขภาพตับที่กล่าวมาแล้ว การตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อหาภาวะตับอักเสบ ไขมันพอกตับ พังผืดในตับ ก็มีความสำคัญเช่นกัน ถ้าหากเราสามารถตรวจพบในเบื้องต้นก็สามารถรักษาได้ ดีกว่าปล่อยทิ้งไว้จนกลายเป็นมะเร็งตับ ทั้งนี้การฉีดวัคซีนป้องกันตับอักเสบตามคำแนะนำของแพทย์จะช่วยให้ห่างไกลจากโรคตับได้