ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังมากถึง 71 ล้านคน จากสถิติพบผู้ป่วยเรื้อรังในประเทศไทยประมาณ 2 ล้านคน และอีกประมาณ 7 แสนคนที่ติดเชื้อ ไวรัสตับอักเสบซี โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้เป็นสาเหตุสำคัญของโรคตับแข็งและมะเร็งตับ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสตับอักเสบซีได้ 100% ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับเชื้อมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้ง่าย
ไวรัสตับอักเสบซี (HCV) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ชอบอาศัยอยู่ในเซลล์ตับของคนเช่นเดียวกับไวรัสตับอักเสบชนิดอื่นๆ เช่น ไวรัสตับอักเสบเอ บี ดี และอี ซึ่งเชื้อไวรัสเหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เซลล์ตับได้รับอันตรายและถูกทำลาย เกิดเป็นโรคตับที่เรียกว่าโรคตับอักเสบ ถ้าระยะการติดเชื้อไม่เกิน 6 เดือนจะเรียกว่าโรคตับอักเสบแบบเฉียบพลันซึ่งเกิดหลังจากได้รับเชื้อไวรัสเข้าไปในร่างกายใหม่ๆ แต่ถ้ามีการติดเชื้อนานเกินกว่านี้และยังไม่หายขาดเนื่องจากร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อได้หมดจะเรียกว่าโรคตับอักเสบแบบเรื้อรัง
ชนิดของไวรัสตับอักเสบซี ไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C Virus : HCV) มีทั้งหมด 6 สายพันธุ์ หลักเรียกว่า genotype และสามารถแบ่งย่อยได้ดังนี้คือ 1a, 1b, 1c; 2a, 2b, 2c; 3a, 3b; 4a, 5a, และ 6a โดยที่เชื้อไวรัสตับอักเสบซีแต่ละ genotype จะกระจายตัวต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งชนิดที่พบมากในประเทศไทยคือ 1 และ 3 ส่งผลให้มีแนวทางในการรักษาผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบซีแต่ละชนิดต่างกัน เพื่อให้การรักษาได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด
วิธีป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี มีดังนี้
1) ห้ามใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
2) สวมถุงมือถ้าต้องสัมผัสเลือด
3) ห้ามใช้มีดโกนหนวด แปรงสีฟันร่วมกัน
4) ห้ามใช้อุปกรณ์ในการสักร่วมกัน
5) ใช้ถุงยางอนามัยหากมีเพศสัมพันธ์หลายคน
การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี
โรคไวรัสตับอักเสบซี สามารถรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งการรักษาจะขึ้นอยู่กับชนิดของไวรัสตับอักเสบซีที่ตรวจพบ โดยที่แพทย์จะพิจารณาการใช้ยาและการรักษาตามภาวะของโรคในผู้ป่วยแต่ละราย มีทั้งการฉีดยาร่วมกับการรับประทานยาต้านไวรัส หากผลตรวจพบว่าผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสในระยะเฉียบพลัน แพทย์จะเฝ้าดูอาการและประเมินว่าไม่มีความจำเป็นต้องรับการรักษา และในกรณีที่ตรวจพบว่าผู้ป่วยติดเชื้อในระยะเรื้อรัง แพทย์จะทำการรักษาโดยคำนึงถึงความรุนแรงของอาการรวมถึงภาวะร่างกายของผู้ป่วยรายนั้นๆ
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี สามารถใช้ชีวิตและออกกำลังกายได้ตามปกติ แต่ต้องไม่ลืมพักผ่อนให้พอเพียง ควรงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้ไวรัสแบ่งตัวมากขึ้นและตับเสื่อมเร็วขึ้น ไม่รับประทานยาเองโดยปราศจากคำสั่งของแพทย์ และควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจระดับ AST และ ALT ว่าการอักเสบของตับอยู่ในระดับใด ดังนั้น ไม่ต้องตกใจกับระดับค่าที่วัดได้ เพราะไม่มีส่วนสัมพันธ์กับความรุนแรงของอาการอักเสบ ซึ่งโดยธรรมชาติไวรัสชนิดนี้จะมีระดับขึ้นๆ ลงๆ เป็นปกติอยู่แล้ว หากแพทย์พบว่าตับของท่านอักเสบต่อเนื่อง อาจพิจารณาให้เข้ารับการรักษาก็ได้