ปัจจุบันเรามักได้ยินคำว่า “ไขมันพอกตับ” บ่อยๆ แต่น้อยคนที่จะเข้าใจถึงอันตรายของมัน ซึ่ง ภาวะไขมันพอกตับ คือภาวะที่มีการสะสมของไขมันในเซลล์ตับ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของไตรกลีเซอไรด์มากกว่าร้อยละ 5 ของเนื้อตับ เป็นภาวะที่พบได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรัง การเกิดผังพืดในตับ กลายเป็นภาวะตับแข็ง และอาจนำไปสู่การเกิดเป็นมะเร็งตับในที่สุด
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากดื่มแอลกอฮอล์ มีดังนี้
- ภาวะอ้วนหรือน้ำหนักตัวเกิน
- เบาหวานหรือมีภาวะดื้ออินซูลิน
- ผู้ที่มีโรคอ้วนลงพุงหรือภาวะเมตาบอลิกซินโดรม
- พฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม เช่น การกินอาหารพลังงานสูงเกินความจำเป็น โดยเฉพาะแป้ง ไขมัน น้ำตาล เป็นต้น
วิธีการดูแลรักษาและคำแนะนำในผู้ที่มีภาวะไขมันพอกตับ มีดังนี้
- การลดน้ำหนัก ในคนที่มีน้ำหนักตัวเกิน การลดน้ำหนักลงได้ ร้อยละ 7 ถึง 10 ของน้ำหนักตัว จะช่วยลดเรื่องของภาวะไขมันพอกตับ ลดการอักเสบในเนื้อตับ ไปจนถึงช่วยทำให้ผังผืดในตับดีขึ้น
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน กล่าวคือ การลดปริมาณแคลอรี่ ลดปริมาณไขมัน แป้ง อาหารหรือเครื่องดื่มที่ประกอบไปด้วยน้ำตาล โดยเฉพาะน้ำตาลฟรุกโตส (ในปัจจุบันอยู่รูปสารให้ความหวานจากการสังเคราะห์ข้าวโพด) ซึ่งมักจะเป็นส่วนประกอบของเครื่องดื่ม น้ำผลไม้บรรจุ ไอศครีม อาหารสำเร็จรูปต่างๆ ชานม ขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ เป็นต้น
- การออกกำลังกาย ทั้งการออกกำลังกายแบบแอโรบิค (เดิน, วิ่ง, ปั่นจักรยาน, เต้น) สัปดาห์ละ 150 นาที ถึง 200 นาที ไปจนถึงการออกกำลังกายโดยมีแรงต้านทาน (weight training)
- ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ตรวจหาโรคร่วมหรือโรคที่มีควมเสี่ยงร่วมต่อภาวะไขมันพอกตับ
- ในปัจจุบันมียา ที่เชื่อว่ามีผลช่วยลดประมาณไขมันในตับ หรือช่วยลดการอักเสบในตับ แต่ควรปรึกษาและได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เพื่อประเมินถึงผลดีและผลเสียโดยละเอียดต่อไป ไม่ใช้ยา อาหารเสริม สมุนไพรต่างๆ โดยปราศจากคำแนะนำจากแพทย์